กระบวนการ UPR

ภูมิหลังของกระบวนการ

กระบวนการ UPR คืออะไร

กระบวนการ Universal Periodic Review หรือ UPR
เป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศ จัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ หรือเรียกย่อๆ ว่ารายงาน UPR เพื่อเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีข้อยกเว้น โดยการทบทวนแต่ละรอบ จะใช้เวลาประมาณ 4 ปีครึ่ง


ความสำคัญของรายงาน UPR

รายงาน UPR ถือเป็นรายงานภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศในทุกด้าน
ทั้งในด้านสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรม รวมทั้งสิทธิของบุคคลกลุ่มต่างๆภายในประเทศ โดยจะเป็นเอกสารสำคัญที่จะใช้เป็นตัววัดความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศ และเป็นตัวบ่งชี้ถึงความท้าทายหรือปัญหาต่าง ๆ ด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศยังคงประสบอยู่ ดังนั้น รายงาน UPR มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกประเทศได้ประเมินตนเองในด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านการปรึกษาหารือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพื่อให้การประเมินอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง มีความสมบูรณ์รอบด้าน ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง เพื่อนำมาเป็นโอกาสในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป


ใครเป็นผู้ทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศภายใต้กลไก UPR

การทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไก UPR จะดำเนินการโดยคณะทำงาน UPR
ประกอบซึ่งด้วยสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ทั้ง 47 ประเทศ อย่างไรก็ดี ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกของคณะทำงานสามารถมีส่วนร่วมในการหารือ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะแก่ประเทศที่ถูกทบทวนได้

คณะทำงานจะจัดประชุมเพื่อทบทวนสถานการณ์ในประเทศต่างๆ ปีละ 3 ครั้งๆ ละ 2 สัปดาห์ ในการประชุมแต่ละครั้งจะพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ จำนวน 14 ประเทศ โดยเอกสารพื้นฐานสำหรับการทบทวนสถานการณ์ในแต่ประเทศนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ฉบับ ได้แก่

  1. รายงานประเทศ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยรัฐบาลของประเทศที่ถูกทบทวน
  2. รายงานจากกลไกประจำอนุสัญญา (treaty bodies) กลไกพิเศษ (Special Procedures) และหน่วยงานสหประชาชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดย OHCHR เป็นผู้รวบรวม และ
  3. รายงานจากภาคส่วนอื่น ๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภาคประชาสังคม

โดยภายหลังการทบทวน คณะทำงาน UPR จะจัดทำรายงานสรุปผลการทบทวนเสนอให้ที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนรับรองต่อไป

ดังนั้น รายงาน UPR จึงเป็นรายงานที่จะถูกพิจารณาทบทวนจากทุกประเทศในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนใน ลักษณะ peer review โดยในการนำเสนอรายงาน ประเทศที่ถูกทบทวนจะต้องตอบข้อซักถามต่าง ๆ จากประเทศอื่น ๆ ในประเด็นที่อาจมีข้อสงสัย หรือประสงค์จะได้รับความกระจ่าง เกี่ยวกับการดำเนินงาน เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม จากนั้นที่ประชุมจะให้ข้อเสนอแนะแก่ประเทศที่ถูกทบทวนในประเด็นที่ยังควรต้องปรับปรุง ซึ่งประเทศที่ถูกทบทวนมีสิทธิที่จะเลือกรับหรือไม่รับข้อเสนอแนะใด ๆ ก็ได้ หลังจากนั้น ประเทศที่ถูกทบทวนจะต้องนำข้อเสนอแนะที่รับมามาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และรายงานผลการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะในการทบทวนรอบถัดไป


ไทยจะถูกทบทวนภายใต้กลไก UPR เมื่อใด

ในการทบทวนรายงานรอบที่ 1 (First cycle review)
ไทยได้จัดส่งรายงานประเทศต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 และได้นำเสนอรายงานต่อที่ประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ 12 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 จากนั้นที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ สมัยที่ 19 ได้รับรองรายงานของคณะทำงาน UPR เกี่ยวกับผลการทบทวนรายงานของไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2555 โดยไทยได้รับข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปฏิบัติทั้งสิ้น 134 ข้อ จากทั้งหมด 172 ข้อ อีกทั้งได้ประกาศคำมั่นโดยสมัครใจอีก 8 ข้อ

สำหรับการทบทวนรายงานรอบที่ 2 (Second cycle review)
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ได้กำหนดให้ไทยส่งรายงานประเทศภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 และนำเสนอรายงานประเทศในช่วงการประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ 25 ระหว่างวันที่ 2-13 พฤษภาคม 2559


หน่วยงานใดเป็นผู้จัดทำรายงาน UPR ของไทย

กระทรวงการต่างประเทศ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำรายงาน UPR ของไทย และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานร่วมเป็นภาคีในการพิจารณาข้อมูลด้านต่างๆ
ซึ่งในการยกร่างรายงาน UPR นั้น กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม


ทำไมภาคประชาชนจะต้องให้ความสำคัญกับรายงาน UPR

เนื่องจากรายงาน UPR เป็นรายงานภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่สำคัญของประเทศ
เนื้อหาที่อยู่ในรายงาน UPR จึงมีความเกี่ยวข้องกับสิทธิของประชาชนทุกคน รายงาน UPR จะมีความสมบูรณ์และจะส่งผลต่อการพัฒนาสิทธิมนุษยชนของประเทศในอนาคตมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดทำรายงาน ผ่านการให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นเพื่อกระทรวงการต่างประเทศนำไปปรับปรุง รายงานให้ถูกต้องสมบูรณ์ต่อไป


สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลไก UPR ได้ที่ไหน

ผู้ที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลไก UPR ได้ที่
www.ohchr.org/EN/HRBodies/UPR/Pages/UPRMain.aspx

นอกจากนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสดการประชุมคณะทำงาน UPR และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการประชุม UPR และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สมัยที่ผ่าน ๆ มา ได้ที่
http://webtv.un.org/meetings-events/human-rights-council/