กระบวนการ UPR

แผนการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ไทยได้รับ และคำมั่นโดยสมัครใจของไทยภายใต้กลไก UPR รอบที่ 2

ตามที่เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559 คณะผู้แทนไทย นำโดยเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวร ณ นครเจนีวา พร้อมด้วยผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เข้าร่วมการรับรองรายงานผลการนำเสนอรายงาน Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 ของไทยในช่วงการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 33 ณ นครเจนีวา โดยคณะผู้แทนไทยได้แจ้งตอบรับข้อเสนอแนะของไทย โดยสรุป ไทยได้ตอบรับข้อเสนอแนะทั้งหมด 187 ข้อ จากข้อเสนอแนะที่ไทยได้รับทั้งหมด 249 ข้อ อีกทั้งได้แจ้งคำมั่นโดยสมัครใจอีก 7 ข้อ

กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมคณะกรรมการกำกับการดูแลจัดทำรายงานประเทศและติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะภายใต้กลไก UPR เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเพื่อพิจารณาร่างแผนปฏิบัติการตามข้อเสนอแนะโดยแบ่งเป็นกลุ่มประเด็นเกี่ยวกับ

  1. การเข้าเป็นภาคีกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
  2. การปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
  3. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกและแผนสิทธิมนุษยชน
  4. การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาและการฝึกอบรม
  5. การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
  6. การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มต่างๆ ในสังคม
  7. การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
  8. กระบวนการยุติธรรม
  9. การอำนวยความยุติธรรม
  10. ความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ
  11. การติดตามผลของกระบวนการ UPR

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการตามข้อเสนอแนะที่ไทยได้ตอบรับและคำมั่นโดยสมัครใจภายใต้กลไก Universal Periodic Review รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559 - 2563) โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปฏิบัติตามแผนดังกล่าวให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป



อ่านต่อเพิ่มเติม หรือ ดาวน์โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่