ข่าวและกิจกรรม

คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการนำเสนอรายงานประเทศตามกลไก UPR รอบที่ 2 ณ นครเจนีวา

11/05/2016

การนำเสนอรายงานประเทศตามกลไก UPR รอบที่ 2

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 คณะผู้แทนไทยนำโดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้นำเสนอรายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยภายใต้กระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 ต่อที่ประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ 25 ที่นครเจนีวา

ปลัดกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวถ้อยแถลงมีใจความสำคัญว่า ประเทศไทยยึดมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยได้นำข้อเสนอแนะของประเทศต่าง ๆ จากการนำเสนอรายงาน UPR รอบแรกเมื่อปี 2554 ไปปฏิบัติจนเกิดผลลัพธ์และมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมหลายด้าน ซึ่งรวมถึงการเข้าเป็นภาคีและการถอนข้อสงวนที่มีต่อตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ เช่น การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร สิทธิเด็ก การขจัดการเลือกประติบัติต่อสตรี สิทธิคนพิการ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตราและปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนหลายฉบับที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างเพศ กองทุนยุติธรรม การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง การคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศผ่านสื่อลามกอนาจาร การต่อต้านการทุจริตและการค้ามนุษย์ ตลอดจนการปฏิรูประบบราชทัณฑ์ อีกทั้งอยู่ระหว่างการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศยิ่งขึ้น

คณะผู้แทนไทยได้รับฟังข้อเสนอแนะและตอบชี้แจงคำถามจากประเทศต่าง ๆ รวม 102 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชนที่หลากหลาย อาทิ การปราบปรามการค้ามนุษย์ สิทธิแรงงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก สตรี คนชรา คนต่างด้าว การบังคับใช้กฎหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุม สิทธิในการรวมกลุ่ม สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม การจัดการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ

ประเทศต่าง ๆ ได้แสดงความชื่นชมต่อพัฒนาการของการส่งเสริมสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของไทยซึ่งส่งผลเป็นรูปธรรม อาทิ สิทธิของกลุ่มเฉพาะต่าง ๆ มาตรการต่อต้านการค้ามนุษย์ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ การประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความเท่าเทียมระหว่างเพศ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 การปฏิรูปกฎหมาย และการให้สัตยาบันและการถอนข้อสงวนที่มีต่อตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีข้อห่วงกังวลที่สำคัญ คือ เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุม การพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร การกักตัวตามอำเภอใจ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติโดยที่ควรให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและแลกเปลี่ยนความเห็นได้อย่างเสรี

ทั้งนี้ จากข้อเสนอแนะทั้งหมด 249 ข้อ คณะผู้แทนไทยตอบรับทันทีจำนวน 181 ข้อ (คิดเป็นร้อยละ 72.69 เปรียบเทียบกับจำนวนข้อเสนอแนะที่ไทยได้ตอบรับทันทีในการทบทวนรอบแรก ร้อยละ 58.14) อาทิ การภาคยานุวัติอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการด้านสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรี ผู้พิการ การส่งเสริมสิทธิทางการศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิภาพแรงงาน ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการแสดงความเห็น ทั้งนี้ คณะผู้แทนฯ จะนำข้อเสนอแนะที่เหลืออีกจำนวน 68 ข้อกลับมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะแจ้งตอบรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 33 ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายน 2559

นอกจากการตอบรับข้อเสนอแนะ ไทยยังได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน อาทิ การปรับแก้กฎหมายภายในให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศหรือคำแนะนำของคณะกรรมการประจำตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชนกับภาคธุรกิจ ความร่วมมือกับภาคประชาสังคมและประเทศต่างๆ เพื่อผลักดันการนำข้อเสนอแนะที่ตอบรับไปผลักดันไปสู่การปฏิบัติต่อไป



เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ย้อนกลับ