ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน - Universal Declaration of Human Rights

Universal Declaration of Human Rights


การสู้รบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สองได้พรากชีวิตมนุษย์ไปไม่น้อยกว่าหกสิบล้านคน และยังส่งผลกระทบในด้านอื่น ๆ ต่อความเป็นอยู่และศักดิ์ศรีของมนุษย์ ทั้งในรูปแบบของความอดอยาก การทรมานนักโทษ การใช้แรงงานเยี่ยงทาส และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ดังนั้น หลังจากที่ได้มีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นภายหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศสมาชิกสหประชาติจึงได้ให้คำมั่นว่าจะร่วมกันป้องกันมิให้เกิดโศกนาฎกรรมดังกล่าวขึ้นอีก ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจึงได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของปัจเจกชนทั่วทุกแห่ง

โดยได้รับการยกร่างขึ้นในปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) โดยคณะกรรมการภายใต้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 8 คน โดยมีนาง Eleanor Roosevelt ภรรยาอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นประธาน และเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศต่างๆ ให้การสนับสนุนและรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

และเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 (ค.ศ. 1948) ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยการลงคะแนนเสียง ซึ่งมีประเทศลงคะแนนเสียงสนับสนุน 48 ประเทศ รวมทั้งไทย งดออกเสียง 8 ประเทศ และไม่มีประเทศใดลงคะแนนเสียงคัดค้าน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ถือเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ในการวางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับแรกของโลก กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับในปัจจุบันล้วนมีพื้นฐาน และได้รับการพัฒนาและมาจากปฏิญญาสากลฉบับนี้ทั้งสิ้น และกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนากฎหมายภายในประเทศของประเทศต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศของตน ทั้งนี้ โดยที่ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของปฏิญญาสากลฯ ในฐานะแม่บทของสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจึงได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากที่สุดในโลก



อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ที่นี่